สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายรูปพวกนี้คือ ระบบการจัดแสงและการจัดแสงครับ ที่ใช้อยู่แล้วใช้ได้ดีตอนนี้ ก็หลอดไฟธรรมดานี่ล่ะครับ อาศัยการปรับ WB ให้เหมาะสม สำหรับกล้องที่สามารถ preset WB ได้ ก็สามารถทำได้โดยนำกระดาษขาวมาวางไว้ก่อน แล้วก็ถ่ายที่กระดาษขาวให้ขาว จากนั้นไปเซ็ทที่ custom ของ WB ให้เลือกภาพนี้เป็นค่าแสงหลัง จะทำให้อุณหภูมิสีที่ได้จะถูกต้อง และที่สำคัญคืออย่าปรับให้องค์พระสีเพี้ยนเป็นอันขาด ทีนี้มาลองดูว่าเราต้องใช้อุปกรณ์อะไรกันบ้างครับ..
อุปกรณ์ที่ใช้งาน1. ขาตั้งกล้องแบบแข็งแรงทนทานที่รับน้ำหนักกล้องได้
2. กล่องถ่ายรูปพระสุดหรู ทำขึ้นมาเอง
3. กระดาษสีที่ใช้ในการเป็นสีพื้น
4. พระเอกของงาน หลอดไฟตะเกียบ 2 ดวง(ซ้าย-ขวา)
และที่ลืมไม่ได้ก็คือ เลนส์มาโครครับ แต่ถ้าไม่มีก็ใช้มาโครที่ติดมากับกล้องก็ได้ครับ เพราะไม่ได้ถ่ายประกวดครับ


*** สำหรับเซ็ทไฟแบบนี้ ช่างภาพมืออาชีพ หลายท่าน อาจมองว่างานที่ออกมาแสงสีจะเพี้ยน ต้องใช้แฟลช 2 ดวง 3 ดวง ตาแมว ฯลฯ ผมว่ามันดูยุ่งยากไปครับ แต่ที่ผมเห็นมา ช่างภาพถ่ายรูปพระมืออาชีพ, ช่างถ่ายรูปพระของหนังสือพระ ก็ใช้สูตรเดียวกันนี่ล่ะครับ หลอดไฟ 2 ดวง ซ้าย-ขวา แสงหลักดวงหนึ่ง แสงลบเงาอีกดวงหนึ่งพอแล้วครับ
ส่วนประกอบกล่องสุดหรู(สร้างเองกับมือ)ไปซื้อก็แพงเป็นหมื่น
1. กล่องไม้จะสร้างเองหรือไปจ้างทำก็ได้ ขนาดแล้วแต่ชอบ
2. กระจกสำหรับวางพระจะใช้แบบธรรมดาหรือแบบตัดแสงก็ได้
3. กระดาษสีพื้น

ตัวอย่าง




เรามาขึ้นกล้องกับขาตั้งกล้องกันเลยครับ...ปรับกล้องลงมาให้ทำมุม 90 องศากับพื้น นำพระมาวางไว้บนกระจก ปรับมุมแสงแล้วถ่ายได้เลย ไม่ชอบสีพื้นก็เปลี่ยนใหม่ สำหรับรูรับแสง (f) นั้น ผมให้ความสำคัญมากครับ แนะนำที่ 8-11 เพื่อครอบคลุมให้ได้ระยะชัดลึกที่เหมาะสม ถ้าถ่ายพวกเหรียญไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหากับพระพวกมีมิติลึก เช่นพระคง คือชัดเฉพาะหน้าอกพระ กลุ่มโพธิ์ไม่ชัด หรือจะโฟกัสที่กลุ่มโพธิ์แต่หน้าอกพระหลุดโฟกัส งั้นก็ใช้ระยะชัดลึกไปเล้ย สำหรับผมปรับ 16-22 ...โฟกัสที่หน้าอกพระถ่ายระยะชัดลึกแล้วติดโพธิ์มาหน่อยๆ เอาเป็นว่าเก็บได้ทุกรายละเอียดพระ แบบประทับใจเซียน แล้วกันครับ ทั้งนี้ต้องใช้ขาตั้งกล้องทุกภาพนะครับ ชัตเตอร์จะนานเท่าไหร่ก็ช่าง ไม่สนเก็บได้ลึกทุกมิติพอ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือระบบ WB กล้องท่านเองก็ปรับให้พอดีเถอะครับ และอีกอย่างอย่าให้สีองค์พระเพี้ยนนะครับ เป็นเรื่องสำคัญ จากนั้นนำมา crop ใน PhotoShop อีกครั้งครับ
คำแนะนำ แสงที่ใช้ในการถ่ายภาพพระ อาจจะใช้แสงจากหลอดไฟ เช่นหลอดไส้ ขนาด 100W หรือหลอดไฟชนิดอื่น เพียงแต่ต้องนำมาปรับ WB หรือ ไวท์บาลานด์ ที่กล้อง เพื่อให้ได้สีที่ถูกต้อง วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและทำให้แสงตรงใจได้มากที่สุด
ข้อคิด/ข้อเตือนใจ เรื่องการรับจ้างถ่ายพระเครื่อง เมื่อรับงานถ่ายภาพ ก็ควรศึกษาเรื่องพระเครื่องพอสมควร เพราะจะได้จัดแสงได้ถูก เนื่องจากพระเครื่องมีหลากหลายลักษณะ ทั้งนูน แบน โค้งเว้า รวมทั้งวัสดุที่นำมาสร้าง ล้วนมีผลต่อการจัดสภาพแสงในการถ่ายภาพ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ อย่าประมาท การจับวางพระทุกครั้ง เป็นไปได้ให้เจ้าของพระเป็นคนนำพระมาวางไว้ที่แท่นถ่าย เพื่อป้องกันปัญหา ทำพระหล่น แตก จนเป็นคดีความ ถึงจะเป็นพระเก้ ก็จะเป็นพระแท้ตอนนี้แหละ หรือจนกว่าจะมีเซียนพระมาพิสูจน์ว่า องค์ที่ทำแตกไปแท้ไม่แท้ ถึงยังไงก็ได้ไม่คุ้มเสีย ควรระวังกันให้ดีด้วยนะครับ และความสุขจากประสบการณ์ที่ถ่ายพระเครื่องคือ มันมีพลังอย่างหนึ่ง ที่ผมเรียกว่า พลังแห่งศิลปะ การทำพระเครื่อง เป็นศาสตร์เรียกว่าชั้นสูงมาก ๆ นอกจากจะเห็นลวดลายบนองค์พระ ยิ่งพระแท้ ๆ เส้นสายจะสวยมาก และเนื้อจะแกร่ง มีลวดลายจากวัสดุที่นำมาทำ เรียกว่าเป็นศิลปะของไทยจริง ๆครับ สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ
คุณ พันธ์ชัย บุญญผลานันท์ (จูน) ที่ให้ข้อมูลครับ